วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ตัวอย่างงานวิจัยคณิตศาสตร์สำหรับเด็ก

ความเป็นมา
- การพัฒนาคนเป็นจุดมุ่งหมายหลักของการพัฒนา โดยเฉพาะเด็กซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพของคน เพราะเด็กคืออนาคตของครอบครัว ของชุมชนและของประเทศชาติ ความหวังของประเทศชาติขึ้นอยู่กับคุณภาพของเด็กที่จะเจริญเติบโตเป็นผู้พัฒนาประเทศต่อไป เด็กในช่วงปฐมวัยเป็นระยะที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาทั้งร่างกาย สติปัญญา สังคม และบุคลิกภาพ ประสบการณ์ที่เด็กได้รับในช่วงนี้มีอิทธิพลมากต่อการเสริมสร้างพื้นฐานความพร้อมสำหรับพัฒนาขั้นต่อไป การวางรากฐานที่ดีของชีวิตต้องวางที่ตัวทรัพยากรบุคคล ที่ส่งผลกระทบที่ดีในระยะยาวมากกว่าการปลูกฝังสร้างเสริมในช่วงอื่นของชีวิต
ช่วงอายุที่ปูพื้นฐานได้ดีที่สุดคือวัยต่ำกว่า 6 ขวบเป็นช่วงที่มีการพัฒนาสติปัญญาสูง การจัดการศึกษาให้เด็กในวัยนี้จึงเป็นการเตรียมเด็กให้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีพร้อมจะเป็นพลเมืองที่ชาติต้องการ แก้ปัญหาของชาติบ้านเมืองได้ เด็กในช่วงปฐมวัยเหมาะสมในการวางรากฐานและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ เด็กทุกคนจะต้องได้รับการสนองตอบขั้นพื้นฐานเพื่อให้การพัฒนาดำเนินไปในทุกด้านให้บรรลุถึงศักยภาพของความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์และสามารถใช้ชีวิตอย่างมีประโยชน์ต่อตนเองและสังคม หากมีการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเป็นการเตรียมความพร้อมให้เด็กซึ่งสามารถเรียนอะไรก็ได้เมื่อมีความพร้อมและความสำเร็จในชีวิตของเด็กขึ้นอยู่กับการเตรียมความพร้อมเป็นสำคัญ การจัดการเรียนให้ตรงกับสติปัญญาของเด็กจะช่วยให้เด็กที่เสียเปรียบด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเสริมสร้างพัฒนาการด้านลักษณะนิสัยและสังคมนิสัย และลดการซ้ำชั้นในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 แต่ถ้าให้เด็กเรียนโดยที่ยังไม่มีความพร้อมนอกจากจะไม่ประสบผลสำเร็จแล้วอาจทำให้เด็กเกลียดโรงเรียน กลัวครู เบื่อหน่าย เฉื่อยชา ขาดความสนใจในการเรียน แบบฝึกความพร้อมเป็นสื่อที่ครู ผู้ปกครองนิยมใช้กันมากเพราะเป็นการส่งเสริมพัฒนาการและเตรียมความพร้อมให้กับเด็กโดยเฉพาะ การให้เด็กทำแบบฝึกหัดจะช่วยเพิ่มแรงกระตุ้นและช่วยปลูกฝังและส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นผู้มีนิสัยใฝ่ศึกษาอย่างมีระบบและเป็นข้อมูลย้อนกลับให้แก่ผู้เรียน ซึ่งจะแสดงถึงจุดเด่นจุดด้อยของแต่ละบุคคลในเนื้อเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะการฝึกทักษะวิชาคณิตศาสตร์ซึ่งเป็นวิชาที่เป็นนามธรรมเข้าใจยากจึงจำเป็นต้องมีการฝึกทักษะมาก เพื่อที่จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์อยู่ตลอดเวลา คณิตศาสตร์จึงเป็นประสบการณ์ที่ต้องจัดให้กับเด็ก ความสามารถของเด็กในวิชาคณิตศาสตร์ยังไม่อาจเทียบกับมาตรฐานการเรียนรู้ของชาติอื่นได้ การเตรียมความพร้อมทางคณิตศาสตร์ให้กับเด็กก่อนวัยเรียนจึงเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่น่าจะได้ผลดี นอกจากนี้แบบฝึกยังมีลักษณะรูปแบบที่สะดวกต่อการใช้สามารถนำติดตัวเพื่อใช้ในการฝึกทักษะได้ และสะดวกในการจัดหา มีพิมพ์จำหน่ายเป็นจำนวนมากตามร้านหนังสือทั่วไปและได้รับความสนใจมากจากครูและผู้ปกครอง
จากเหตุผลดังกล่าวจึงสนใจที่จะศึกษาวิเคราะห์รูปลักษณ์แบบฝึกความพร้อมทางคณิตศาสตร์ ตลอดจนเนื้อหาของแบบฝึกที่พิมพ์จำหน่ายระหว่างปีพุทธศักราช 2530-2538 และเปรียบเทียบกับเกณฑ์ของแบบฝึกความพร้อมทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กก่อนวัยเรียนเพื่อเป็นประโยชน์ต่อครู ผู้ปกครอง ผู้แต่งและสำนักพิมพ์
แนวคิดทฤษฎี
-
วัตถุประสงค์
1. เพื่อวิเคราะห์รูปลักษณ์และเนื้อหาของแบบฝึกความพร้อมทางคณิตศาสตร์ สำหรับเด็กก่อนวัยเรียนที่พิมพ์จำหน่ายระหว่างปีพุทธศักราช 2530 ถึง 2538
2. เพื่อเปรียบเทียบแบบฝึกความพร้อมทางคณิตศาสตร์ สำหรับเด็กก่อนวัยเรียนที่พิมพ์จำหน่ายระหว่างปีพุทธศักราช 2530 ถึง 2538 กับเกณฑ์แบบฝึกความพร้อมทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กก่อนวัยเรียน
สมมุติฐานการวิจัย

-
ระเบียบวิธีวิจัย
- การวิจัยเชิงสำรวจ
ประชากร/กลุ่มตัวอย่าง
ประชากร เป็นแบบฝึกความพร้อมทางคณิตศาสตร์ สำหรับเด็กก่อนวัยเรียนที่พิมพ์จำหน่ายระหว่างปีพุทธศักราช 2530-2538 จำนวน 220 เล่ม
กลุ่มตัวอย่าง เป็นแบบฝึกความพร้อมทางคณิตศาสตร์ สำหรับเด็กก่อนวัยเรียน จำนวน 159 เล่ม โดยพิจารณาตามรายชื่อและเกณฑ์การเลือกกลุ่มตัวอย่าง
1. เป็นหนังสือสำหรับเด็กวัยก่อนเรียนที่พิมพ์เป็นภาษาไทย
2. พิมพ์จำหน่ายระหว่างปีพุทธศักราช 2530 ถึง 2538 โดยระบุชื่อสำนักพิมพ์ที่ชัดเจน
3. เป็นแบบฝึกเด็กให้พร้อมที่จะเรียนคณิตศาสตร์โดยใช้การคัดเลือกข้อใดข้อหนึ่งดังนี้
3.1 ในคำนำของหนังสือมีข้อความบอกว่าเป็นหนังสือเพื่อเตรียมความพร้อมหรือปูพื้นฐานทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กวัยก่อนเรียน หรือ
3.2 พิจารณาจากเนื้อหาในหนังสือและคัดเลือกเฉพาะที่เป็นแบบฝึก เพื่อเตรียมความพร้อมทางคณิตศาสตร์
ตัวแปร
-
นิยามศัพท์
- 1 แบบฝึกความพร้อมทางคณิตศาสตร์ หมายถึง แบบฝึกที่เตรียมเด็กให้พร้อมในการเรียนคณิตศาสตร์ซึ่งเป็นหนังสือที่พิมพ์ โดยโรงพิมพ์ของหน่วยงานรัฐบาลที่มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาก่อนภาคบังคับ หรือพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เอกชน จุดประสงค์ของหนังสือเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการเรียนหรือประสบการณ์ทางการเรียน ด้านทักษะเบื้องต้นทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กก่อนวัยเรียน
2 เกณฑ์ของแบบฝึกความพร้อมทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กก่อนวัยเรียน หมายถึง เกณฑ์ของ แบบฝึกความพร้อมทางคณิตศาสตร์ด้านรูปลักษณ์และเกณฑ์ของแบบฝึกความพร้อมด้านเนื้อหา
3 รูปลักษณ์ของแบบฝึกความพร้อมทางคณิตศาสตร์ หมายถึง ข้อมูลทั่วไปของแบบฝึก การจัด รูปเล่ม ตัวอักษรที่ใช้ ภาพประกอบที่ใช้ และการนำเสนอเนื้อหาแบบฝึกความพร้อมทางคณิตศาสตร์
4 เนื้อหาของแบบฝึกความพร้อมทางคณิตศาสตร์ หมายถึง สิ่งที่แบบฝึกความพร้อมทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กก่อนวัยเรียนได้เสนอให้กับเด็ก ซึ่งปรากฏอยู่ในวัตถุประสงค์ของผู้แต่งและกิจกรรม ที่ใช้ฝึกในแต่ละครั้งหรือแต่ละตอน
5 เด็กก่อนวัยเรียน หมายถึง เด็กวัย 2 ถึง 6 ขวบ เป็นวัยที่กำลังเรียนอยู่ในระดับอนุบาล ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการเตรียมความพร้อมทางการเรียนก่อนจะเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
- แบบสอบถามโดยการตรวจสอบและการเติมคำ และตารางวิเคราะห์แบบฝึกความพร้อมทาง คณิตศาสตร์สำหรับเด็กก่อนวัยเรียน
วิธีการรวบรวมข้อมูล
-
การวิเคราะห์ข้อมูล
- ค่าร้อยละ
สรุปผลวิจัย
- ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. ผลการวิเคราะห์แบบฝึกความพร้อมทางคณิตศาสตร์ สำหรับเด็กก่อนวัยเรียนปรากฏผลดังนี้
1.1 ด้านรูปลักษณ์
1.1.1 ข้อมูลทั่วไป แบบฝึกความพร้อมทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กก่อนวัยเรียนส่วนใหญ่ จัดพิมพ์เป็นชุดโดยสำนักพิมพ์เอกชน ผู้แต่งเป็นคณะ ราคาตั้งแต่ 6 ถึง 48 บาท
1.1.2 การจัดรูปเล่ม แบบฝึกความพร้อมทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กก่อนวัยเรียนส่วนใหญ่มีรูปเล่มสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้ง ขนาด 8 หน้ายก จำนวน 32 หน้าขึ้นไป เย็บเล่มโดยวิธีเย็บอก หน้าปกเป็นกระดาษอาร์ตเคลือบสารเคมี ภาพหน้าปกเป็นภาพวาดการ์ตูนสี่สี
1.1.3 ตัวอักษร ส่วนใหญ่เป็นสีดำ ขนาด 24-48 ปอยท์ พื้นหลังตัวอักษร เป็นสีขาว
1.1.4 ภาพประกอบ ส่วนใหญ่เป็นภาพวาดการ์ตูน ใช้กระดาษปอนด์ในการพิมพ์เนื้อหา
1.1.5 นำเสนอเนื้อหา แบบฝึกความพร้อมทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กก่อนวัยเรียนทุกเล่มมีชื่อของแบบฝึกหรือมีจุดมุ่งหมายของผู้แต่งสอดคล้องกับเนื้อหาภายในเล่ม เนื้อหามีความสัมพันธ์กับเนื้อหาในแบบฝึกทักษะเบื้องต้นทางคณิตศาสตร์ตามแนวการจัดประสบการณ์ชั้นอนุบาล ของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ มีภาพประกอบเหมาะสมกับคำสั่ง ลักษณะของคำสั่งเป็นการให้ทำเครื่องหมายตามคำสั่ง
2. เมื่อเปรียบเทียบผลการวิเคราะห์แบบฝึกความพร้อมทางคณิตศาสตร์กับเกณฑ์ปรากฏผลดังนี้
2.1 ด้านรูปลักษณ์ของแบบฝึกความพร้อม ส่วนใหญ่จะสอดคล้องกับเกณฑ์ ซึ่งเป็นความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ คือ มีการจัดพิมพ์เป็นชุด รูปเล่มสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้ง ขนาด 8 หน้ายก เย็บเล่มโดยวิธีเย็บอก หน้าปกเป็นกระดาษอาร์ต ภาพปกเป็นภาพวาดการ์ตูนสี่สี ตัวอักษรสีดำ ขนาด 24-48 ปอยท์ พื้นหลังตัวอักษรเป็นสีขาว ภาพประกอบเป็นภาพวาดการ์ตูน มีชื่อของแบบฝึกหรือจุดมุ่งหมายของผู้แต่งสอดคล้องกับเนื้อหาภายในเล่ม เนื้อหามีความสัมพันธ์กับเนื้อหาของการฝึกทักษะเบื้องต้นทางคณิตศาสตร์ตามแผนการจัดประสบการณ์ชั้นอนุบาล ของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ มีภาพประกอบเหมาะสมกับคำสั่ง ลักษณะของคำสั่งเป็นการให้ทำเครื่องหมายตามคำสั่ง ด้านรูปลักษณ์ของแบบฝึกความพร้อมที่ไม่สอดคล้องกับความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ คือ หน้าปกที่เคลือบด้วยสารเคมี จำนวนหน้าที่มากกว่า 32 หน้า และการใช้กระดาษปอนด์พิมพ์เนื้อหาภายในเล่ม
2.2 ด้านเนื้อหา เนื้อหาแบบฝึกความพร้อมทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กก่อนวัยเรียนมีความสอดคล้องกับเกณฑ์ ของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ที่พบมาก คือ เนื้อหาในการฝึกความเข้าใจความหมายของตัวเลข จำนวน การบวก การลบและสัญลักษณ์ต่าง ๆ และการฝึกใช้ประสาทสัมพันธ์ระหว่างตากับมือ ซึ่งมีถึง ร้อยละ 81.27 และร้อยละ 72.45 ตามลำดับ และที่พบน้อย คือ เนื้อหาในการฝึก ความเข้าใจเกี่ยวกับการวัดชั่งตวงและคาดคะเนซึ่งมีเพียง ร้อยละ 4.41
ข้อเสนอแนะ

- 1. ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้
1.1 สำนักพิมพ์และผู้แต่งควรจะผลิตหนังสือ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของพัฒนาการและความต้องการของเด็กมากกว่าจะคำนึงถึงความต้องการของผู้ใหญ่
1.2 สำนักพิมพ์และผู้แต่งควรผลิตแบบฝึกสำหรับเด็ก ซึ่งเป็นแบบฝึกที่เด็กสามารถทำได้ด้วยตนเอง
1.3 ผู้แต่งควรจะนำเสนอเนื้อหาในลักษณะที่ให้อิสระให้เด็กได้ฝึกคิด ได้ค้นหา
1.4 ผู้แต่งควรจะนำเสนอเนื้อหาและกิจกรรมที่ดึงดูดความสนใจ ของเด็กมากกว่านำเสนอในรูปของแบบฝึกหัดที่ประกอบแบบเรียน
1.5 สำนักพิมพ์ควรจะรักษาคุณภาพในด้านต่าง ๆ ของการผลิต
1.6 ครูและผู้ปกครองควรศึกษาคำอธิบายวิธีใช้แบบฝึกให้เกิดความเข้าใจตรงกันกับจุดมุ่งหมายของผู้แต่ง
2. ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัยครั้งต่อไป
2.1 ควรมีการวิเคราะห์กลวิธีในการเขียนแบบฝึกความพร้อมทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กก่อนวัยเรียน ในเรื่องการจัดลำดับเนื้อหา วิธีการนำเสนอเนื้อ
2.2 ควรมีการพัฒนาแบบฝึกความพร้อมทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กก่อนวัยเรียน ในด้านรูปลักษณ์ เนื้อหา และวิธีการนำเสนอเนื้อหา

ไม่มีความคิดเห็น: